วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

KM การจัดการความรู้

          งานบุญ : สวัสดิการสังคม    เป็นผลผลิตจาก การถอดบทเรียน และการจัดการความรู้ ในเรื่องของงานบุญ ที่มีต่องานสวัสดิการสังคมโดยความร่วมมือ ร่วมใจของ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางในการจัดสวัสดิการ ด้านจิตใจ ประกอบด้วยกิจกรรมการจัดการความรู้ ๒ เรื่องจากงานบุญ ๒ รูปแบบ ที่มีผลต่อสวัสดิการชุมชน คือ ปอยหลวงปลอดเหล้าของวัดหัวริน ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และพิธีสืบชะตาผู้ประสบทุกขภาวะคนดอยสะเก็ดของอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

         งานปอยหลวงปลอดเหล้าของวัดหัวรินได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองศาลาอเนกประสงค์ของวัด โดยเกิดจากดำริของพระครูวิวิธ ประชานุกูล เจ้าอาวาส ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาให้การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่ต้นและส่งเสริมกิจกรรมวัฒนธรรม และประเพณีทางศาสนาของวัดไม่ให้มีเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมาย แม้แต่งานปอยหลวงซึ่งเป็นงานบุญที่ชาวบ้านจะสนุกสนาน เลี้ยงดูเอิกเกริก ท่านเป็นแกนหลักร่วมกับฆราวาสฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ชาวบ้าน ฝ่ายปกครอง สามารถจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการประหยัดเงินให้ชุมชนไม่น้อยกว่า๕ ล้านบาท และยังได้เป็นหัวหน้าโครงการ “ลดเหล้าในประเพณีปอยหลวง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และแก้ไขปัญหาสุขภาวะ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่” จนประกาศ อำเภอสันป่าตองเป็นอำเภอนำร่องในการลดเหล้าในประเพณีปอยหลวงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้ชาวบ้านลดเหล้าในงานปอยหลวงแต่ท่านและชุมชน มีความกล้าหาญที่จะดำเนินงานนี้ โดยมีการค้นหารูปแบบการจัดงานเพื่อให้ “ผลการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ใช่งานเมาครั้งยิ่งใหญ่”ได้สำเร็จลุล่วงเป้าประสงค์
         
          พิธีสืบชะตาผู้ประสบทุกขภาวะคนดอยสะเก็ด เป็นงานที่คณะกรรมการดูแลสุขภาพของอำเภอดอยสะเก็ดร่วมกับคณะสงฆ์ของอำเภอดอยสะเก็ดจัดขึ้นเพื่อให้ขวัญและกำลังใจแก่ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนแก่ที่ไม่มีโอกาสจัดพิธีสืบชะตาได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นพิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ด้วยความเชื่อของคนล้านนาการสืบชะตาเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิต โดยได้จัดให้กับคนที่มีความ ทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจเป็นเวลาติดต่อกันมา ๗ ปี ซึ่งเป็นสวัสดิการด้านหนึ่งที่ชุมชนโดยภาคส่วนต่าง ๆ มีความสามัคคีร่วมมือกันจัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ประสบทุกข์ภาวะ หรือผู้มีจิตศรัทธาในพิธีกรรมแต่ไม่สามารถดำเนินการเองได้งานบุญทั้ง ๒ เรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าศาสนามีส่วนร่วมในวิถีชีวิต ของคนทุกสังคม ทุกชนชั้น การที่คณะสงฆ์เข้ามาใส่ใจวิถีคนในชุมชน ทำให้เป็นศูนย์รวมในการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ของคนในชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นรูปแบบการให้สวัสดิการแก่ชุมชนทางด้านจิตใจที่ไม่ใช่เป็นตัวเงิน หรือสิ่งของเท่านั้นดังนั้นคณะทำงานเห็นว่ารูปแบบการจัดสวัสดิการแก่ชุมชนโดยคณะสงฆ์และฆราวาส ชาวบ้าน หรือ บวร = บ้าน วัด รัฐ ร่วมมือร่วมใจกันนี้ควรจะมีการขยายผลเพื่อเป็นรูปแบบนำร่องแก่ชุมชนอื่น ๆได้นำไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวของศาสนาต่อไปคณะทำงานขอกราบนมัสการท่านเจ้าคุณโพธิรังสีเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด และท่านพระครูวิวิธประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดหัวริน และขอขอบคุณท่านผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ให้ความรู้และให้โอกาส ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาประมวลเป็นเอกสารชุดความรู้ งานบุญ : สวัสดิการสังคม เพื่อขยายผลต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

photolee

photolee
Thawat Palee