วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

งดเหล้าในงานบุญ

ปอยหลวง : งานบุญครั้งยิ่งใหญ่ หรืองานเมาครั้งยิ่งใหญ่


                คำว่า “ปอยหลวง” เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนา มาจากคำสองคำรวมกัน ได้แก่คำว่า “ปอย” แปลว่า งานบุญ และ คำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ คำว่า “ปอย” มักใช้ร่วมกันกับคำอื่นๆ อีก นอกจากคำว่าปอยหลวง ได้แก่ ปอยล้อ ปอยส่างลอง โดยรากศัพท์แล้ว กล่าวกันว่า คำว่า “ปอย” หมายถึง “งานบุญ” ได้แก่กิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนจัดขึ้นเพื่อให้เกิดบุญกุศล เป็นการร่วมกันสร้างกุศลในโอกาสต่างๆ เช่น คำว่าปอยล้อ ใช้เรียกงานบุญที่จัดทำกันขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้แก่พระเถระ หรือพระสงฆ์ที่มรณภาพ ส่วนปอยส่างลองนั้น เป็นคำที่ใช้เรียก ประเพณีการบรรพชาสามเณรของชาวไทยใหญ่ โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            การทำบุญแต่ละครั้งมักนำมาซึงการดื่มสุรา เงินที่สูญเสียไปกับการซื้อของพวกนี้มีมากกว่าการนำไปทำบุญ ทั้งๆที่ศาสนาพุทธมีศีลข้อที่ห้ามไม่ให้ดื่มสุรา แต่คนก็ยังใช้สุราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่จะมีศีลข้อห้ามนี้
         
              สำหรับงาน “ปอยหลวง” นั้น โดยรูปศัพท์และตามความหมายดั้งเดิมนั้น หมายถึง “งานบุญครั้งยิ่งใหญ่” ซึ่งคนในชุมชนจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่จะถวายเสนาสนะที่สร้างเสร็จใหม่ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็น วิหาร อุโบสถ กำแพงวัด โรงฉันท์ และศาลา เป็นต้น ให้เป็นสมบัติของสงฆ์เพื่อใช้ในงานสาธารณะประโยชน์ต่อไป

             มีกำหนดเพิ่มเติมขึ้นภายหลังด้วยว่า การจะมีปอยหลวงได้นั้น ของที่จะถวายควรจะมีราคาตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ถ้าราคาต่ำกว่านั้นก็อนุญาตให้เพียงทำบุญถวายเท่านั้น ช่วงประเพณีปอยหลวง มักจะจัดขึ้นตั้งแต่เดือน ๕-๘ เหนือ (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม) เพราะเว้นว่างจากการทำไร่ไถนา งานนี้จะจัดขึ้นประมาณ ๓-๗ วัน แล้วแต่ฐานะของแต่ละชุมชน

           การที่เรียกกันว่างานปอยหลวงซึ่งหมายถึงงานบุญครั้งยิ่งใหญ่นั้น เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนาและด้านมหรสพเพื่อความบันเทิง ทั้งยังต้องจัดการอำนวยความสะดวก ด้านบริการแก่แขกต่างหมู่บ้านซึ่งจะมีทั้งสมณะและฆราวาส ทุกเพศทุกวัย ทางวัดและศรัทธาเจ้าภาพต้องดูแลให้ทั่วถึง

       เจตนารมณ์ของงานประเพณีปอยหลวงที่สืบทอดกันมา คือความต้องการร่วมกันของคนในชุมชนในการที่จะจัดงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดบุญกุศลและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของแต่ละคน ตลอดไปจนถึงสันติสุขในครอบครัว และความสงบร่มเย็นของชุมชน ปัจจุบัน งานปอยหลวงในชุมชนเริ่มเปลี่ยน คุณค่าที่แท้จริงในทางศาสนาและพิธีกรรมลดลง

       ทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านต้องจัดเตรียมสถานที่ ข้าวปลาอาหารอย่างดี และที่ขาดไม่ได้ในแต่ละบ้านคือ เครื่องดื่มของมึนเมา ซึ่งก่อนจัดงานปอย พ่อค้าส่งจะนำเครื่องดื่ม ทั้งสุรา เบียร์ น้ำอัดลมรวมถึงน้ำแข็งมาลงไว้ให้ก่อนโดยยังไม่ต้องจ่ายเงิน การร่วมทำบุญโดยใส่ปัจจัย(นำเงินใส่ซอง) ซึ่งจำนวนคนที่มาแต่ละหลังคาเรือนนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากน้อยแค่ไหนและเจ้าของบ้านเคยได้ไปฮอมปอยใครไว้บ้าง (เรียกว่ามา ส้าย คือเราไปช่วยทำบุญเขา เขาก็มาช่วยทำบุญคืน มีลักษณะหมุนเวียนกันไปแล้วแต่ว่าบ้านใครจะมีปอย ภาษาคนเฒ่าคนแก่จะเรียกว่า “หัววัดเติงกั๋น” หมายถึง เป็นชุมชนที่ไปมาหาสู่ กัน (มีความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายคอยช่วยเหลือกัน) เจ้าภาพก็มีหน้าที่ทำกับข้าวกับปลา (ระยะหลังเน้นเป็นกับแกล้มเหล้า) และเครื่องดื่มมาเลี้ยงดู ระยะเวลา ๓-๕ วัน ที่จัดงานปอยหลวง สิ่งที่พบเห็นทั่วไปคือคนเมา ดื่มบ้านนี้ไปยกแก้วต่อบ้านโน้น
          และผลที่เกิดขึ้นตามมาทุกปีคือคนเมา (ทั้งวัยทำงานและวัยรุ่น) บางรายก่อเหตุทะเลาะวิวาท นอกจากนั้นยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากการจราจรคับคั่ง และเมาแล้วขับ จนกระทั่งวันแห่ต้นครัวทานเข้าวัดมาถึง เป็นวันที่มีคนมาร่วมเยอะมากที่สุด แต่ละบ้านจะนำต้นครัวทานมาเรียงแถวตามแต่ละป๊อก (หัวหมวดบ้าน)
           จากแต่เดิมเป็นขบวนแห่ที่เรียบร้อย สวยงาม มีเครื่องแห่ฆ้อง แห่กลอง คนเฒ่าถือเครื่องไทยทานนำหน้า ละอ่อนตามหลัง ก็กลายเป็นว่าคนเมานำหน้า แบกต้นครัวทานเต้นอย่างเมามันตามจังหวะเพลง ชาวบ้านจะนิยมว่าจ้างเหมารถเครื่องเสียงมานำหน้าขบวนแต่ละหัวหมวดกลายเป็น ขบวนแห่คนเมาและบ้าคลั่งภายใต้การกระหน่ำของเสียงคนตรี มือซ้ายถือขวดเหล้า มือขวากระดกแก้วเหล้าเข้าปากเพื่อน คนเฒ่าแก่เดินตามหลังต้องคอยเก็บยอดเงินที่ตกจากต้นครัวทาน กว่าจะถึงวัด ต้นครัวทานที่เคยสวยงามและเป็นของสูง กลับเหลือเพียงแต่โครงสร้าง ดอกไม้หล่นร่วงหาย กระดาษเงินทองขาดวิ่นไปถวายพระที่วัด

         ต้นครัวทานจะถูกยกนำไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ตั้งแต่กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน และวัยรุ่นที่เป็นกำลังหลักของชุมชน ดื่มเหล้าเมาเต้นอยู่กับวงดนตรีหน้าวัด มีหางเครื่องนุ่งน้อยห่มน้อย หรือที่เรียกกันว่า “ดนตรีขาขาว” เหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่เข้าวัดไปทำบุญถวายทาน ปัจจุบันประเพณีที่ดีงามหลายอย่างของชาวล้านนา ไม่เฉพาะแต่เพียงงานปอยหลวงเท่านั้น ถูกทำให้กลายเป็นเพียงงานเลี้ยงฉลองและดื่มของมึนเมา เสื่อมถอยทั้งคุณค่าแห่งการทำบุญ คุณค่าของการช่วยงานกันระหว่างเครือญาติ สิ้นเปลืองเงินทองจนก่อให้เกิดภาระหนี้สินตามมา
    
        จากวงพูดคุยของคนเฒ่าคนแก่ที่สะท้อนออกมาว่า“งานปอยบะเดี่ยวนี้บ่อยากใคร่จัด เปลื๋องสตางค์ค่าเหล้าค่าเบียร์การตกแต่งบ้าน ต้องแปะข้าวของ ต้นครัวตานก็ต้องจ้างเปิ้นแป๋ง ละอ่อนมันบ่าเอาหยัง เมาวันค่ำ ไล่ตี๋กัน ฟันกั๋น บ่ม่วน ไข้จ๋างไปเหีย” (งานปอยสมัยนี้ไม่ค่อยอยากจัดเลย เพราะเปลืองเงินค่าเหล้าเบียร์ ต้องเชื่อข้าวของมาตกแต่งบ้านเรือน ต้นครัวทานก็ต้องจ้างคนอื่นทำ เด็กๆ มันไม่ช่วยอะไร เมาทั้งวัน ไล่ตีกัน ฟันกัน ไม่สนุก และงานดูจืดหรือกร่อยไปเสียแล้ว) ด้วยเหตุที่ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของคนล้านนา ได้แปรเปลี่ยนไปจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเลี้ยงดูแขกเหรือ การปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัย จากงานพิธีทางศาสนากลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริง ที่มีแต่ความมึนเมา ขาดสติของคนที่มาร่วมงาน พระครูวิริธ-ประชานุกุล เจ้าอาวาสวัดหัวริน ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีดำริที่จะจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าในการทำบุญฉลองศาลาอเนกประสงค์ของวัดหัวรินขึ้น


            เหตุปัจจัยที่คิดจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าที่วัดหัวริน พระครูวิริธประชานุกุล ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดงานปอยหลวงปลอดเหล้าวัดหัวริน จากปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขาดสติไปดื่มสุราในร้านอาหาร และไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการ เกิดการติดโรคและส่งผลกระทบกับครอบครัว ที่สุดสามีเสียชีวิตครอบครัวมีปัญหาการเลี้ยงดูลูกเอง พ่อแม่ก็ต้องมาดูแลบุตรหลาน เกิดความขัดแย้งกัน และเป็นปัญหาสังคมตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้ทางวัดจึงได้มีแนวคิดการจัดกิจกรรมงานประเพณีทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมโดยการ ลด ละ เลิก สุรา ในระยะนั้น เป็นงานงดเหล้าเข้าพรรษา ออกพรรษาลาเหล้า ต่อด้วยงานสงกรานต์ ซึ่งภาคเหนือเองมีกิจกรรมหลากหลาย การดำหัวผู้ใหญ่ การแห่ไม้ค้ำ ก็มีเรื่องเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งต่อความสวยงาม ซึ่งเป็นงานที่น่าจะมีแต่ความอ่อนหวาน ส่งเสริมอนุรักษ์ แต่กลับมีดนตรี ดิสโก้เทค เครื่องเสียง มีการเต้นรำที่ยั่วยุ ในเรื่องของการทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาในเรื่องของสุข-ภาวะหรือสุขภาพอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ทางวัดจึงได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องที่ปลอดแอลกอฮอล์มาตลอดและจะมีงานทำบุญฉลองศาลาเอนกประสงค์ แต่จะทำอย่างไรให้การทำบุญครั้งนี้เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เป็นงานที่ทำแล้วให้เกิดบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่วัฒนธรรมปัจจุบันเริ่มมีดิสโก้เทค มีการเต้นนำขบวนครัวทาน เป็นการทำที่ไม่มีคุณค่า จิตใจของผู้สูงอายุที่ตั้งใจเตรียมเครื่อง-ไทยทานเป็นเวลานาน ๒-๓ เดือน เมื่อนำมาทำบุญถวายวัด แต่เมื่อขบวนแห่ล้วนแต่เมาเต้นรำกันตลอดทางทำให้ต้นไทยทานชำรุดหักพังหมด กลับกลายเป็นเศษไม้มาทิ้งที่วัด และกลายเป็นภาระที่วัดต้องเผาทิ้งไปจึงทำให้เกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ไม่ใช่เป็นงานเมาครั้งยิ่งใหญ่ เห็นภาพผู้สูงอายุจูงมือลูกหลานเข้าวัดทำบุญจริงๆช่วงแรกเป็นเรื่องของกระแสการต่อต้านทุกเรื่อง เมื่อมีกิจกรรมที่ไม่เข้าใจข้อมูลไม่ชัดเจน และการไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมก็จะเป็นปัญหาที่ทุกคนค้างคาใจอยู่จึงได้มีการพูดคุย ตั้งแต่กรรมการหมู่บ้าน ศรัทธาวัด ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนด้านผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ของวัดในพื้นที่เป็นหัวหน้าสถานีอนามัย ครูในโรงเรียน เพื่อหาแนวทางจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าของวัดหัวริน และมีคุณธงชัย ยงยืน วิทยากรพี่เลี้ยงจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือ (สคล.) ร่วมในโครงการด้วย โดยใช้กระบวนการรื้อฟื้นความหมายปอยหลวง จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความสำคัญของงานบุญครั้งนี้ แก่นแท้ของงานปอยหลวง โดยมีกระบวนการดังนี้
 
      ๑. การค้นหาความต้องการของชุมชน
         เริ่มที่ให้เด็ก เยาวชนได้เข้าร่วมค้นหาความต้องการของชุมชน สิ่งที่อยากเห็นในงานปอยหลวงของหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาชุมชน ประวัติงานปอยหลวงเมื่อสมัยก่อน ในกลุ่มหมู่บ้านของตน เช่น พูดคุยกันกับคนเฒ่าคนแก่ในบริเวณรอบๆ บ้านตัวเอง
    
        ๒. การประมวลข้อมูลของคนทำงาน -นำข้อมูลที่ได้มาประมวลในภาพรวมของชุมชนร่วมกันโดยเด็กๆที่ร่วมโครงการจะมารวมตัวกันที่วัดทุกเสาร์-อาทิตย์ โดยจะค้างคืนที่วัด 1 คืน ประมาณ ๕ สัปดาห์ จากการประมวลข้อมูลบางส่วนยังต้องการที่จะจัดงานแบบเดิม มีดนตรีดิสโก้เทคการเลี้ยงดู เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ
       
         ๓. การจัดเวทีประชาคมเมื่อมีการประมวลข้อมูลแล้ว ได้มีเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อยื่นข้อมูลแก่ชุมชนซึ่งเป็นการยืนยันข้อมูลต่างๆ และเก็บรวบรวมมาไม่ต่ำกว่า ๖ ครั้งโดยในการประชาคมหมู่บ้าน ได้นำเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายจากการจัดงานปอยหลวง ครั้งก่อนปี ๒๕๔๔ เป็นค่าเหล้าประมาณ ๘๐% ค่าอาหาร-จิปาถะ ประมาณ ๑๐-๒๐% ส่วนที่ทำบุญแค่ ๑๐% เดิม ๑๐๐% ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดล้วนทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินต่อมา

          หลังจากทำประชาคมแต่ละครั้ง มีชาวบ้านเห็นด้วยในการจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้ามากขึ้นเรื่อยๆ    โดยสรุปชาวบ้านจะจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าโดยมติเสียงข้างมากยกมือเห็นชอบร่วมกัน และมีรูปแบบการจัดงานคือ

          ๑) การแต่งดาต้นครัวทานของแต่ละครัวเรือนเป็นการสิ้นเปลืองวัสดุอุปกรณ์ค่าใช้จ่ายและเป็นหมู่บ้านใหญ่ๆ ๕๔๐ หลังคา จำนวนต้นจะมีจำนวนมาก จึงเห็นควรจัดเป็นกลุ่มย่อย ๆ ๗ กลุ่ม โดยตั้งต้นที่หมู่บ้านประธานกลุ่ม๒)การเลี้ยงดูแขกเหรื่อที่มารวมกันที่วัดห้ามมิให้มีการจำหน่ายสุรา ในบริเวณจัดงาน

           ๓) ห้ามเลี้ยงสุรา – เบียร์ – เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณงานในระยะแรกมีคณะกรรมการหมู่บ้านบางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าปอยหลวงปลอดเหล้าเป็นงานสนุกสนานรื่นเริง การดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติธรรมดา การไม่ดื่มต่างหากเป็นเรื่องผิดปกติ และปรามาสโครงการนี้ไม่มีทางสำเร็จได้เลย แต่ด้วยความตั้งใจจริง และความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน จึงได้เดินหน้าดำเนินงานต่อโครงการลดเหล้าในประเพณีปอยหลวง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และแก้ไขปัญหาสุขภาวะ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่” ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก สสส. โดยผ่าน แผนงานทุนอุปถัมภ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานไว้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ รวมระยะเวลา ๑ปี โดยมีท่านพระครูวิวิธประชานุกูล เป็นหัวหน้าโครงการ และนายมงคล ชัยวุฒิ เป็นผู้ประสานงานโครงการ พร้อมทั้งทีมงานท่านอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ในการจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้า วัดหัวริน ในปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เข้ามาเป็นคณะผู้ดำเนินงาน โดยเฉพาะกำลังหลักที่สำคัญในพื้นที่ พระอาจารย์วันชัย จนฺทวณฺโณ เจ้าอาวาสอารามพระบาทร้องอ้อ พ่อครูสุรสิทธิ์ สิทธิชัย รองประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอสันป่าตอง คุณหมออรพรรณ โนจนานฤดม หมออนามัยตำบลทุ่งสะโตก เป็นต้น ก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก สสส. นั้น คณะทำงานโครงการได้เข้าไป ประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับแกนนำระดับอำเภอตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๑ โดยได้เข้าไปปรึกษากับ เจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง และนายอำเภอสันป่าตอง เกี่ยวกับการรณรงค์ลดเหล้าในงานปอยหลวง พร้อมทั้งเข้าไปร่วมในการประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอสันป่าตอง ณ ที่ว่าการอำเภอ นายอำเภอสันป่าตอง รับทราบและประกาศให้เป็นนโยบายของอำเภอ
     
          ในวันที่๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ นอกจากนั้นเรายังได้มีโอกาสไปร่วมเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการลดเหล้างานปอยหลวงในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของชมรมผู้สูงอายุ อำเภอสันป่าตอง และในที่ประชุมคณะสงฆ์อำเภอสันป่าตอง ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ด้วยในส่วนของการดำเนินงานตามโครงการ เราได้จัดวางขั้นตอนการดำเนินงาน ที่สำคัญไว้ หลายขั้นตอน ได้แก่
        
         ๑.เวทีประชุมคณะกรรมการและที่ปรึกษาระดับอำเภอ เพื่อวางแผนการดำเนินงาน
         ๒.เวทีถอดบทเรียนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าชุมชนต้นแบบ
         ๓.ประชาสัมพันธ์โครงการและรับสมัครชุมชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ โดยอาศัยสื่อวิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อบุคคลหรือการประสานงานโดยทีมผู้ประสานงาน
         ๔.เวทีปรับทัศนคติแกนนำชุมชน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการลดเหล้าในงานปอยหลวง
         ๕.จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสอบถามความคิดเห็นและขอประชามติเกี่ยวกับการลดเหล้าในงานปอย
         ๖.จัดเวทีค้นหารูปแบบการจัดงานปอยหลวงที่เหมาะสมของแต่ละชุมชน
๗.จัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าตามกำหนดการของแต่ละพื้นที่
         ๘.จัดเวทีถอดองค์ความรู้งานปอยหลวงของแต่ละพื้นที่ ที่จัดงานปอยหลวงในช่วง ปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา โดยเลือกตัวอย่างวัดที่จัดงานปอยในปี ๒๕๕๑มาเพียง ๑๐ วัดจาก ๑๑ ตำบล
         ๙.เวทีคืนข้อมูลให้ชุมชน ทั้ง ๑๑ ตำบล ในเขตอำเภอสันป่าตอง โดยข้อมูลหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากของการซื้อเหล้าและเบียร์ในประเพณีงานปอยหลวงที่ผ่านมา
         ๑๐.เวทีแถลงข่าวประกาศนโยบายเป็นอำเภอนำร่องของการลดเหล้าในงานประเพณีปอยหลวง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นประธาน
         ๑๑. เวทีสรุปและประเมินโครงการนอกจากกิจกรรมหลักซึ่งจัดทำไว้เป็นขั้นตอนดังกล่าวแล้ว เรายังมีกิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการประชุมปรึกษาและวางแผนการดำเนินงานในแต่ละเดือน ระหว่างคณะผู้ดำเนินงานโครงการ เพื่อหารือและแบ่งงานกันไปทำตามความสะดวกของแต่ละคน รวมทั้งทบทวนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา และขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานในช่วงต่อไปกล่าวโดยสรุป โครงการนี้ได้สิ้นสุดโครงการไปแล้ว ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมเพื่อประเมินและสรุปโครงการ ในวันที่ ๓พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแกนนำจากชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ต่างเห็นพ้องกันว่าสามารถลดการดื่มเหล้าเบียร์ในงานประเพณีปอยหลวงได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่มากนัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดลงแล้วตามสัญญาโครงการ แต่คณะผู้ดำเนินงานโครงการยังหวังว่า จะมีการขยายผลสู่ชุมชนในเขตพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อให้งานปอยหลวงยังคงคุณค่าของความเป็นประเพณีที่ดีงามของคนล้านนาไทยต่อไปและขอยืนยันอีกครั้งว่า “งานปอยหลวง” ไม่ใช่ “’งานเมาหลวง” ปอยหลวงคือ“งานบุญครั้งยิ่งใหญ่” ไม่ใช่ “งานเมาครั้งยิ่งใหญ่”
      
       ผลของการดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนชาวอำเภอสันป่าตองได้ตระหนักถึงความสำคัญในการลดเหล้าในงานประเพณีปอยหลวงมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ได้มีชุมชนวัดที่สนใจเข้าร่วมรณรงค์ลดเหล้าในงานประเพณีปอยหลวง จำนวนทั้งสิ้น๗วัด ได้แก่

        ๑. ชุมชนวัดส้มป่อย ตำบลมะขุนหวาน
        ๒. ชุมชนวัดป่าชี่ ตำบลทุ่งสะโตก
        ๓. ชุมชนวัดศรีก่อเก๊า ตำบลทุ่งต้อม
        ๔. ชุมชนสำนักสงฆ์ใหม่มงคลสะหรี๋สร้อย ตำบลทุ่งต้อม
        ๕. ชุมชนวัดต้นตัน ตำบลแม่ก๊า
        ๖. ชุมชนวัดกลางทุ่ง ตำบลทุ่งต้อม
        ๗. ชุมชนวัดสันป่าตอง ตำบลยุหว่า

          กระแสของการลดเหล้าในงานปอยหลวง เริ่มแพร่กระจายไปทั่วทั้งอำเภอสันป่าตอง ตลอดจนอำเภอใกล้เคียง จนกระทั่งในวันที่ ๑๕กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ชาวอำเภอสันป่าตองทั้งฝ่ายชาวบ้านและพระสงฆ์ ได้จัดการแถลงข่าวขึ้น ณ วัดหัวริน ตำบลทุ่งสะโตก โดยมีนายวัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในนามตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าว ทั้งนี้เพื่อให้ชาวสันป่าตองและประชาชนในพื้นที่อื่นๆได้เห็นความสำคัญของการลดเหล้าในงานประเพณีปอยหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทในงานบุญประเพณี ลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ และเพื่อให้งานประเพณีปอยหลวงเป็นงานบุญอย่างแท้จริงดังนั้นจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงงานปอยหลวงในปัจจุบันให้เป็น “งานบุญ” อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า งานปอยหลวงไม่ใช่ “งานบุญ” ครั้งยิ่งใหญ่เหมือนดังเจตนารมณ์ของงานที่มีมาแต่เดิมเสียแล้ว เพราะลักษณะของการจัดงานปอยหลวงในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “งานเมาหลวง” มากกว่า

           ผลจากการดำเนินงานโครงการลดเหล้าในประเพณีปอยหลวง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาวะอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จนประกาศอำเภอสันป่าตองเป็นอำเภอนำร่องแห่งแรกในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

photolee

photolee
Thawat Palee